วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เรื่องของปลา



                                                                                                                                               
                                                                โดย ... สุทธิพงษ์  พงษ์วร
         
     คุณเคยนั่งทอดอารมณ์ นั่งชมปลา แหวกว่ายธาราอยู่ไหวๆ หรือไม่ คาดว่าส่วนใหญ่คงต้องเคยทำแบบนี้มาแล้ว เอาน่า…ถ้าคุณยังไม่เคย ก็อยากให้คุณได้ลองทำดูสักครั้ง และลองสังเกตดูวิธีการว่ายน้ำของปลาเหล่านี้ เพื่อดูว่าทำไมปลาแต่ละชนิดถึงมีวิธีการว่ายน้ำแตกต่างกันไปได้ อาทิ เช่น ทำไมปลาเทวดา (Pterophyllum sp.) ถึงว่ายน้ำด้วยท่าทางแบบนั้น  ทำไมปลาทอง (Carassius sp.) ถึงว่ายน้ำด้วยท่าทางแบบนี้ ถ้ายกตัวอย่างเจ้าสองชนิดนี้ขึ้นมา เชื่อว่าผู้อ่านจะต้องเห็นความแตกต่างและสามารถหาคำตอบมาอธิบายได้คร่าวๆ บ้าง ว่าทำไมเจ้าปลาทั้งสองชนิดถึงได้มีลีลาท่าทางของการว่ายน้ำที่แตกต่างกัน และทำไมมันไม่เคยว่ายน้ำชนกันโครมครามเหมือนเวลาที่คนขับรถชนกันบนท้องถนน สักที นอกจากมันจะตั้งใจว่ายน้ำมาต่อสู้กับศัตรู หรือเข้ามาสีกับคู่รักของมันเท่านั้น

ความเหมือนในความแตกต่าง   
        
    ความเหมือนก็คือปลาทั้งสองชนิดที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้ก็คือมันต่างก็มี ครีบหาง ครีบหลัง 
ครีบอก ครีบท้อง ครีบก้น เหมือนๆ กัน ความแตกต่างก็คือ ลักษณะของครีบ และรูปทรงของลำตัวปลาทั้งสองชนิดแตกต่างกัน รูปทรงของลำตัวและรูปร่างของครีบนี่เองที่เป็นตัวกำหนดลักษณะของการเคลื่อน ไหว และการเลือกที่อยู่อาศัย และแหล่งหากินของปลาแต่ละชนิด ลองนึกเล่นๆ ถ้าคุณเกิดเป็นปลาที่มีรูปร่างเทอะทะ ครีบยาวรุงรัง อย่างเจ้าปลาทอง แล้วยังเลือกที่จะเข้าไปอยู่ในรูในดินโคลน ในโพรงดินใต้น้ำ มันก็กระไรอยู่ ครั้นจะเข้าออกจากโพรงแต่ละทีก็จะทำให้เก้งก้าง เกะกะและในที่สุดก็จะตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าไปในที่สุด สุดท้ายก็จะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ก่อนเวลาอันควร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะไม่เห็นปลาที่มีรูปร่างสวยงามประหนึ่งนางแบบนาย แบบปลา ว่ายน้ำร่อนไปร่อนมาอวดโฉมให้ชมกันง่ายๆ ถ้ามีให้เห็น ก็ต้องอาศัยอยู่ใกล้ๆ ที่หลบซ่อนสักหน่อย หรือโพรงที่พร้อมจะให้ว่ายหลบเข้าไปยามที่มีภัยมาได้ (พลันให้นึกถึงการคัดเลือกทางธรรมชาติขึ้นมาในทันที หนังสือเรียนชีววิทยา เล่ม 5 หน้า 125-127 )

   จริงๆๆ แล้ว ปลาทองในธรรมชาติไม่ได้มีครีบยาวดูรุงรังแบบที่เราเห็นขายกันตามร้านขายปลาทองแต่ดูเผินๆออกจะคล้ายปลาตะเพียนด้วยซ้ำไปสามารถดูรูปได้จาก http://www.thejump.net/id/wild-goldfish.htm หรือที่ http://web.ukonline.co.uk/mark.smith/instp.html เลื่อนลงมาดูรูปที่ห้านะครับ 
       ผู้อ่านลองพิจารณาถึงรูปทรงของปลานิลและปลาดุก รวมถึงลักษณะของการว่ายน้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยของปลานิล ปลาดุก ดังภาพข้างล่าง ก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับระบบนิเวศที่ เปลี่ยนแปลงไป (ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือที่มนุษย์พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น) 




 
ภาพที่ 1 แสดงครีบปลาแต่ละชนิด
หน้าที่และการทำงานของครีบแต่ละชนิดของปลา
         นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาหน้าที่และการทำงานของครีบปลาแต่ละชนิดไว้ และสามารถอธิบายได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้
     ครีบปลาเป็นรยางค์สำหรับช่วยในการเคลื่อนที่ ลอยตัวหยุดนิ่งหรือหยุดการเคลื่อนที่  ครีบปลาที่จะได้รู้จักโดยทั่วไป ก็มีครีบหลัง (dorsal fin)ครีบหาง (caudal fin)ครีบก้น (anal fin)ครีบอก (pectoral fin)และครีบเอว (pelvic fin หรือ ventral fin)สำหรับปลาไม่มีเกล็ด (catfish)จะมีติ่งเนื้อด้านหลังครีบหลัง เราเรียกว่า ครีบไขมัน (adipose fin หรือ fat fin)
      ครีบหลังและครีบก้นจะช่วยไม่ให้ตัวปลาเกิดการควง สว่านในขณะที่ว่ายน้ำไปข้างหน้า ส่วนครีบหางก็จะเป็นครีบหลักที่ช่วยทำให้ปลาว่ายน้ำเคลื่อนที่ไปด้านหน้า ส่วนครีบคู่อื่นๆ จะช่วยในการลอยตัวอยู่กับที่ ลอยตัวขึ้นด้านบนผิวน้ำ หรือหยุดการเคลื่อนที่ไปด้านหน้า
คลิกเพื่อดูแอนิเมชั่นประกอบบทความ
http://www.ipst.ac.th/biology/LearningObjects/FishSwimming/intro.swf

ลักษณะอื่นๆ ที่พึงสังเกตได้ของปลา
       รูปร่างของปาก จะบอกได้ถึงลักษณะของอาหารที่ปลากินเข้าไปเบื้องต้น เช่น ปลาที่มีปากขนาดใหญ่ก็น่าจะกินอาหารที่มีขนาดใหญ่ตามไปด้วย (แต่ก็ไม่เป็นเช่นนี้ในทุกกรณี)
      เส้นข้างลำตัว(lateral line)จะมีถุงบรรจุเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเรียงตัวอยู่ตามเส้นข้างลำตัวของ ปลา และถุงนี้จะมีรูเปิดออกด้านนอกเพื่อตรวจจับแรงดันของคลื่นน้ำต่างๆ ที่อยู่รอบตัวปลา ทำให้ปลาสามารถรับรู้ได้ว่า มีใครไปใครมาหรือมีวัตถุอะไรอยู่ข้างๆ ตัวหรือไม่
      รูเปิดของทางเดินอาหาร ท่อกำจัดของเสียจากไตและระบบสืบพันธุ์ เป็นท่อเปิดร่วมกันอยู่ด้านหน้าของครีบก้น
      แผ่นปิดเหงือก มีโครงสร้างแข็งเพื่อป้องกันเหงือกที่อยู่ภายใน และใช้เป็นทางออกของน้ำที่ไหลผ่านออกมาจากเหงือกหลังจากที่มีการแลกเปลี่ยน ออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว

มหัศจรรย์เซ็นเซอร์บอกการเคลื่อนไหว
      มาตอบคำถามที่เกริ่นไว้ในตอนต้นกันดีกว่า คำตอบที่ได้ บางคนอาจจะตอบว่าที่ปลาว่ายน้ำไม่ชนกัน ก็เพราะปลามีตา ก็สามารถมองเห็นได้ แต่….ตาของปลาอยู่ด้านข้าง แถมยังไม่มีคอให้หมุนได้เหมือนคนหรือสัตว์อื่นๆ ทั่วๆ ไป ทำให้มุมมองของภาพที่เห็นไม่กว้างพอที่จะระวังภัยได้รอบตัว

      ปลาจึงต้องอาศัยประสาทสัมผัสส่วนอื่นมาช่วยเสริมการรับรู้ของสิ่งต่างๆ รอบตัว เจ้าสิ่งที่มาช่วยทำให้ปลารับรู้ความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบตัวก็คือเส้นข้างลำตัว หรือ lateral line ที่เส้นข้างลำตัวปลาจะมีประสาทรับรู้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นน้ำ ทำให้ปลากะระยะ และทิศทางการเคลื่อนที่เพื่อจะไม่ให้ว่ายน้ำชนกันได้ ปลาจะกะระยะทางของสิ่งต่างๆ ได้จากระดับความแรงของคลื่นน้ำ ซึ่งเมื่อกระทบกับปลายเส้นประสาทที่อยู่บริเวณเส้นข้างลำตัวแล้ว แรงสั่นสะเทือนก็จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานเคมีและถูกส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาท แปรผลข้อมูลออกมาเป็นระยะทางของสิ่งต่างๆ ตามความแรง และทิศทางของการสั่นสะเทือนของคลื่นน้ำ
ภาพที่ 3 ภาพวาดแสดงเส้นข้างลำตัวและการรับรู้แรงสั่นสะเทือนของคลื่นน้ำ


เอกสารอ่านเพิ่มเติม
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐานและเพิ่มเติม ชีววิทยา เล่ม 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544. 2548. พิมพ์ครั้งที่ 1. 255 หน้า.

http://www.floridaconservation.org/fishing/Fishes/anatomy.html  Fish Anatomy

2 ความคิดเห็น:

  1. พื้นหลังสวยมากคับ รูปแบบการจัดวางตัวอักษรก็ดีมีการวางภาพประกอบที่เหมาะสมเนิื้อหาสาระดี เป็นประโยชน์มาก ๆๆคับบ ขอบคุณนะคับสำหรับข้อมูล

    ตอบลบ
  2. เป็นการนำเสนอเรื่องปลาที่ดีค่ะ เป้นการนำเสนอในเรื่องของปลาในเรื่องของหน้าที่และการทำงานของครีบแต่ละชนิดของปลา ลักษณะอื่นๆ ที่พึงสังเกตได้ของปลา และมหัศจรรย์เซ็นเซอร์บอกการเคลื่อนไหว มีรูปภาพเพิ่มเติมที่นำเสนอประกอบ ทำให้น่าอ่าน น่าเรียนรู้มากค่ะ

    ตอบลบ